Search

ซูโม่ร้องไห้ : การแข่งขันสุดแปลกที่มีอายุยาวนานกว่า 400 ปี - Sanook

santeolahraga.blogspot.com

การร้องไห้ของลูกตัวน้อย ถือเป็นหนึ่งในภัยทำลายล้างสำหรับพ่อแม่ เพราะนอกจากต้องปวดหัวว่าจะทำอย่างไรให้ลูกของพวกเขาหยุดร้องดี มันยังทำให้เหล่าพ่อแม่ถูกเขม่นจากคนรอบข้าง

อย่างไรก็ดี มันอาจจะเป็นข้อยกเว้นสำหรับชาวญี่ปุ่น เมื่อการร้องไห้สำหรับเด็ก ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป จากการที่พวกเขามีกีฬาสุดแปลกที่ชื่อว่า "ซูโม่ร้องไห้" 

มันคืออะไร ทำไมต้องร้องไห้ ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand 

 เทศกาลประจำปี 

เป็นประจำทุกปีก่อนช่วงโกลเดนวีค (วันหยุดยาวญี่ปุ่นช่วงต้นเดือนพฤษภาคม) วัดเซนโซจิ หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่ตั้งอยู่ในย่านอาซาคุสะ ใจกลางกรุงโตเกียว จะคราคร่ำไปด้วยผู้คนมากกว่าปกติ 

บางคนอาจจะมาไหว้พระขอพร บางคนอาจจะมาถ่ายรูปคู่กับโคมแดง แต่ชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเหล่าพ่อแม่ที่มีลูกตัวน้อย เลือกที่จะมาเยือนสถานที่แห่งนี้ เพราะการแข่งขันที่เรียกว่า "นาคิซูโม่" หรือ "ซูโม่ร้องไห้" 


Photo : www.shirahata-jinja.jp

มันคือการแข่งขันที่จับเด็กในวัยแบเบาะมาแข่งร้องไห้กัน เป็นกิจกรรมที่เปรียบเสมือนเทศกาลประจำปีของญี่ปุ่น ซึ่งไม่ใช่แค่ความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานสืบทอดกันมากว่า 400 ปี 

อันที่จริง ซูโม่ร้องไห้ ถือเป็นกิจกรรมที่มีการจัดขึ้นทั่วญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิไปจนถึงฤดูร้อน แต่ที่ดูเหมือนว่าการแข่งขันที่วัดเซนโซจิ จะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ เมื่อมีเหล่าพ่อแม่จำนวนมากส่งลูกเข้าร่วมการแข่งขัน รวมไปถึงมีผู้คนเข้ามาดูการแข่งขันเป็นหลักหมื่นเป็นประจำทุกปี 

กติกาของซูโม่ร้องไห้ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน โดยจะเริ่มจากพ่อแม่จะอุ้มลูกน้อยในวัย 6-18 เดือน ไปส่งให้นักซูโม่ในวงโดเฮียว (วงประลองของซูโม่) จากนั้นนักซูโม่จะตะโกนว่า Nake, Nake (ร้อง ร้อง) และดูว่าใครว่าใครร้องก่อน คนนั้นจะเป็นผู้ชนะ หรือถ้าหากร้องพร้อมกัน เด็กที่ร้องดังที่สุด ก็จะเป็นผู้ชนะไป 

"นาคิซูโม่ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กเกิดใหม่ เพื่อดูว่าใครร้องดังที่สุด คนที่ร้องมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ" พระรูปหนึ่งในวัดเซนโซจิกล่าวกับ The Culture Trip 

"พ่อหรือแม่ของเด็กจะอุ้มเด็กเข้าไปในวงโดเฮียว และพวกเขาก็จะได้รับการอวยพรหรือเครื่องราง หลังจากนั้นก็โค้งศีรษะให้กรรมการ และการแข่งขันก็เริ่มขึ้น" 


Photo : e-asakusa.jp

แม้ว่าการร้องไห้ของเด็กอาจจะไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะเด็กในวัยแบเบาะ แต่ถ้าหากเด็กบางคนไม่ร้อง นักซูโม่จะต้องสรรหาวิธีที่จะทำให้เจ้าหนูตัวน้อยร้องให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการหยิกเบาๆ ไปจนถึงการเขย่าขึ้นลง

หรือถ้าเด็กคนนั้นทำอย่างไรก็ไม่ร้อง กรรมการในสนามก็จะงัดไพ่ตายออกมาใช้ นั่นคือการสวมหน้ากากปีศาจเทงงู ปีศาจในตำนานของญี่ปุ่นที่มีจมูกยาวและหน้าตาน่ากลัว เพื่อทำให้เด็กตกใจและร่ำไห้

"ถ้าเด็กคนไหนไม่ร้องในงานนี้ นักซูโม่จะพยายามทำให้พวกเขาร้องให้ได้ ด้วยการเขย่าขึ้นลงเบาๆ ในขณะที่พ่อแม่ต้องมองดูด้วยใจที่สั่นไหว" โยชิมิ โมริตะ นักบวชที่ศาลเจ้าอิรุงิ ในโตเกียว อีกสถานที่ที่จัดการแข่งขันซูโม่ร้องไห้กล่าวกับ AFP 

ทำให้บางครั้ง มันจึงดูเป็นการแข่งขันบีบหัวใจพ่อแม่พอสมควร ที่ต้องเห็นคนที่ไม่รู้จักมาทำให้ลูกหลานของตัวเองตกใจกลัว หรือเสียขวัญ จนร้องไห้ออกมา

แต่เหตุใดเหล่าพ่อแม่ถึงยอมทำขนาดนี้ ?

น้ำตาคือความเข้มแข็ง 

ญี่ปุ่นอาจจะเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี และวิทยาการที่ก้าวหน้า แต่พวกเขาก็ถือเป็นประเทศที่มีความเชื่อที่ค่อนข้างหลากหลาย และซูโม่ร้องไห้ก็มีที่มาจากสิ่งนี้ 

มันมาจากจากภาษิตญี่ปุ่นที่ว่า Naku ko wa sodatsu ที่แปลว่าเด็กร้องไห้จะโตเร็ว เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่า การร้องไห้ของเด็กไร้เดียงสาจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และวิญญาณที่เข้ามารบกวนออกไป ในขณะเดียวกัน การร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง จะช่วยเรียกให้เทพเจ้ามาปกป้อง และอวยพรให้มีสุขภาพดี 


Photo : tokyo-eventplus.com

"ผู้คนมากมายต่างถามว่า 'ทำไมต้องทำให้ทารกร้อง?' โดยเฉพาะคนต่างชาติ บางครั้งนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่มาดูงานนี้ก็ถามเหมือนกัน" พระรูปหนึ่งแห่งวัดเซนโซจิกล่าวกับ The Culture Trip 

"เราอธิบายว่างานนี้มีพื้นฐานจากภาษิตญี่ปุ่น 'เด็กที่ร้องไห้มากจะเติบโตอย่างแข็งแรงและสุขภาพดี' ผมคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญที่คนจะเข้าใจว่าทั้งหมดมีที่มาจากไหน" 

ทั้งนี้พวกเขายังมีความเชื่อที่ว่าการที่เด็กร้องไห้อย่างแข็งแรงในวงโดเฮียว ที่มีเทพเจ้าสิงสถิตย์อยู่ ถือเป็นความมงคลสำหรับเด็กคนนั้น ที่จะเติบโตขึ้นมาอย่างมีอนาคต ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังเชื่อว่าถ้าเด็กถูกอุ้มชูโดยนักซูโม่ จะทำให้พวกเขาสุขภาพดีตลอดชีวิต 

"เขาไม่ใช่เด็กที่ร้องเยอะ แต่วันนี้เขาร้องไห้มากเลยเพื่อเรา และเราก็มีความสุขกับสิ่งนี้" มาเอะ ชิงะ หนึ่งในผู้ร่วมงานกล่าวกับ AFP

นอกจากนี้ พ่อแม่บางคนยังมองว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่ให้ลูกของพวกเขาได้ใกล้ชิดกับนักซูโม่ตัวจริงตั้งแต่ยังน้อย เผื่อว่าพวกเขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นนักซูโม่ในอนาคต 

"มันแทบจะเหมือนกับการแข่งขันซูโม่ ฉันจึงรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องดี ที่เขาจะมีประสบการณ์ด้านซูโม่ตั้งแต่อายุเท่านี้" แม่คนหนึ่งกล่าวกับ Culture Trip


Photo : www.shirahata-jinja.jp

ด้วยจึงทำให้แต่ละปีมีพ่อแม่จำนวนมากที่พยายามพาลูกเข้ามาร่วมลงแข่งขันในซูโม่ร้องไห้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วันเซนโซจิ ที่แม้จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นเงินถึง 15,000 เยน (ราว 4,500 บาท) และเปิดรับเพียงแค่ 160 คนต่อปี แต่ก็มีคนสมัครเกินโควต้าจนต้องจับฉลากเป็นประจำทุกปี 

"ซูโม่ร้องไห้ที่อาซาคุสะค่อนข้างดังพอสมควร ฉันจึงคิดว่าถ้าฉันมีลูกฉันจะให้ลองทำบ้าง ฉันมาที่นี่เพราะว่าฉันหวังว่าลูกของฉันจะเติบโตอย่างแข็งแรง และสุขภาพดี" หนึ่งในผู้ร่วมงานคนหนึ่งกล่าว The Culture Trip

อย่างไรก็ดี แม้จะชื่อว่า "ซูโม่รองไห้" แต่ใช่ว่าจะมีนักซูโม่เข้าร่วมกิจกรรมเสมอไป 

ซูโม่ร้องไห้ที่ไม่มีนักซูโม่ 

จริงอยู่ที่ซูโม่ร้องไห้ อาจจะเป็นกิจกรรมที่แพร่หลายและจัดขึ้นทั่วญี่ปุ่น แต่จุดเริ่มต้นของมันก็ไม่แน่ชัดว่ามาจากที่ใด เพราะแต่ละที่ต่างกล่าวอ้างว่าของตนคือต้นกำเนิดที่แท้จริง และมีตำนานแตกต่างกันไป 

ตัวอย่างเช่น วัดไซเคียวจิ เมืองฮิราโดะ จังหวัดนางาซากิ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ที่ระบุว่าจัดการแข่งขันซูโม่ร้องไห้มาตั้งแต่เมื่อราว 400 ปีก่อน ก็มีที่มาจากตำนานว่าเสียงร้องของทารก เคยขับไล่วิญญาณที่ตามรังควานไดเมียว (เจ้าเมือง) คนหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ 17 


Photo : e-asakusa.jp

"วัดไซโคจิ ซึ่งเป็นสถานที่จัดการแข่งขันซูโม่ร้องไห้ ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ 400 ปีก่อน" อายากะ คิโนะซุเกะ กรรมการซูโม่ร้องไห้แห่งวัดไซเคียวจิอธิบาย

"วัดไซโคจิ เป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของของพระคูไค (พระชื่อดังที่ช่วยทำให้พุทธศาสนาแพร่หลายในญี่ปุ่นในสมัยเฮอัน) แต่ก่อนหน้านั้นมันเป็นวัดนิกายเซ็นที่เรียกว่าวัดโชองอิน" 

"มันมีตำนานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของซูโม่ร้องไห้ ไดเมียวคนแรกของฮิราโดะฮัง (แคว้น) ที่ชื่อว่ามัตสึอุระ ชิเงโนบุ ได้ขอร้องกับพระริวดงว่าอยากจะย้ายวัด เพราะว่าที่ตั้งของ โชองอิง ตั้งอยู่ในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระคูไค" 

"อย่างไรก็ตาม จากการที่พระริวดงปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยความโกรธ ชิเงโนบุ จึงจุดไฟเผาวัดโชองอิน"  

"เพื่อปกป้องพระประธานยาคุเนียไรจากเปลวเพลิง พระริวดง จึงคว้านท้องแล้วเอาพระพุทธรูปใส่เข้าไปในท้อง ด้วยเหตุนั้น พระริวดง และเอเอ็ตสึที่เป็นลูกศิษย์ต่างเสียชีวิตในกองเพลิง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 10 มีนาคม ปีเคโชที่ 12 (1607)"

"หลังจากนั้น วัดโชองอิง ได้ถูกเลือกเป็นที่สร้างวัดไซเคียวจิ แต่ชิเงโนบุ ยังคงถูกวิญญาณพระริวดงและพระเอเอ็ตสึตามรังควาญ (ความเชื่อเรื่องวิญญาณอาฆาตในสมัยนั้น)" 

"วันหนึ่ง ชิเงโนบุมาที่วัดไซเคียวจิ ได้มีเสียงร้องของทารก และทำให้วิญญาณหนีไป หลังจากนั้นเขาก็ไม่รู้สึกกังวลใจอีกเลย"  

"และด้วยเหตุผลนี้จึงได้เริ่มจัดการแข่งขันซูโม่ร้องไห้ ที่เด็กๆ จะมาแข่งร้องไห้ มาตั้งแต่ตอนนั้น ก่อนที่มันจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหลังสงคราม ในช่วงปีโชวะที่ 29 (1954) และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี"  


Photo : www.asahi.com

ในขณะที่ศาลเจ้าฮางิวาระ แห่งเมืองซาไค จังหวัดโอซากา ก็ประกาศว่าซูโม่ร้องไห้ เป็นหนึ่งในพิธีกรรมของชินโต และถูกจัดมาตั้งแต่ปี 1996 ซึ่งทำให้มันเป็นกิจกรรมที่สามารถพบเห็นได้ในศาลเจ้าเช่นกัน 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นาคิซูโม่มีกฎและรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ บางพื้นที่อาจจะใช้เกณฑ์ว่าใครร้องก่อนชนะ ในขณะที่บางพื้นที่ใครร้องก่อนอาจจะเป็นผู้แพ้ หรือพื้นที่อาจจะเอาเด็กที่ร้องเสียงดังที่สุด หรือบางพื้นที่อาจจะไม่มีการตัดสินแพ้ชนะ 

"มันไม่มีการแพ้หรือชนะสำหรับการปล้ำของเรา และการแข่งขันจะจบลงด้วยด้วยการร้องว่า 'บันไซราคุ' ที่หมายความว่าขอให้มีชีวิตยืนยาว" โมริตะแห่งศาลเจ้าอิรุงิกล่าวกับ AFP 

นอกจากนี้แม้จะเรียกการแข่งขันว่าซูโม่ร้องไห้ แต่ในบางพื้นที่อาจจะไม่มีนักซูโม่แม้แต่คนเดียวมาร่วมกิจกรรม เนื่องจากคำว่าซูโม่ ไม่ได้มีความหมายว่านักซูโม่ (Rikishi) แต่หมายถึงการแข่งขันในรูปแบบของกีฬาซูโม่ 

ด้วยเหตุนี้ทำให้การแข่งขันซูโม่ร้องไห้ในบางพื้นที่อย่าง วัดไซเคียวชิ จังหวัดนางาซากิ และศาลเจ้าโกะคุโคะ จังหวัดฮิโรชิมา จะให้พ่อหรือแม่เป็นคนอุ้มเด็ก ในขณะที่บางแห่งอย่างศาลเจ้าฮางิวาระ จังหวัดโอซากา จะใช้นักบวชเป็นคนอุ้มเด็กแทน หรือบางพื้นที่ถึงขนาดให้เด็กแต่งตัวเป็นนักซูโม่เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี แม้จะมีกฎและรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่พวกเขาก็ล้วนมีจุดประสงค์เดียวกันนั่นคือการทำให้เด็กร้องไห้ออกมา เพื่อให้เทพเจ้าคุ้มครองหนูน้อยเหล่านี้ 

"การร้องไห้ของทารก มีจุดประสงค์เพื่อการเข้าถึงเทพเจ้า พ่อแม่ก็หวังว่าตัวน้อยของพวกเขาจะเติบโตขึ้นมาสุขภาพดีและแข็งแรง" โมริตะอธิบาย

กิจกรรมครอบครัว 

ปัจจุบัน นาคิซูโม่ ยังเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสำหรับชาวญี่ปุ่น และยังคงมีพ่อแม่ในวัยหนุ่มสาวจำนวนมากพยายามที่จะส่งลูกเข้าร่วมการแข่งขันเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดเซนโซจิ 


Photo : e-asakusa.jp

"เขากำลังจะขวบนึงเร็วๆ นี้ และเราอยากให้เขามาที่นี่ และมันจะเป็นความทรงจำที่มีต่องานนี้เมื่อเขาโตขึ้น" ยูกิ อิบุซุกิ คุณแม่ที่ส่งลูกเข้าร่วมการแข่งขันกล่าวกับ AFP  

เพราะนอกจากความเป็นมงคลสำหรับแก้วตาดวงใจพวกเขาแล้ว มันยังเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้พ่อและแม่ รวมไปถึงปู่ย่าตายายที่มาให้กำลังใจลูกหลานของเขาได้ใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว และกลายเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับพวกเขา 


Photo : mainichi.jp

"ทั้งพ่อ แม่ ปู่ย่าตายายจากทั้งสองฝั่ง ดูเหมือนว่าพวกเขาจะสนุกที่ได้มา มันเป็นกิจกรรมสำหรับครอบครัวที่แท้จริง บางครั้งญาติคนอื่นก็มาด้วย ทุกคนต่างมาดูงานนี้ และมีช่วงเวลาที่ดีร่วมกัน" พระรูปหนึ่งในวัดเซนโซจิกล่าวกับ AFP 

ทำให้มันเป็นการแข่งขันที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน รวมถึงได้รับความสนใจจากสื่อจากตะวันตกที่มาทำข่าวเป็นประจำทุกปี จนได้รับการยกย่องในฐานะการแข่งขันสุดแปลกของโลก 

และที่สำคัญมันทำให้เสียงร้องของเด็ก ไม่ใช่สิ่งที่น่ารำคาญอีกต่อไป อย่างน้อยก็ในงานนี้ 

Let's block ads! (Why?)




July 13, 2020 at 10:22AM
https://ift.tt/2DIti3D

ซูโม่ร้องไห้ : การแข่งขันสุดแปลกที่มีอายุยาวนานกว่า 400 ปี - Sanook

https://ift.tt/2XXdRfO


Bagikan Berita Ini

0 Response to "ซูโม่ร้องไห้ : การแข่งขันสุดแปลกที่มีอายุยาวนานกว่า 400 ปี - Sanook"

Post a Comment

Powered by Blogger.